ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


สวัสดีค่ะทุกท่าน แน่นอนในช่วงต้นปีแบบนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของภาษี ดังนั้นวันนี้ฝ่ายกฎหมายจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิธีลดหย่อนภาษีกันค่ะ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้ ไม่ว่าประเภทใด ชนิดใด ถ้าไม่มีกฎหมายยกเว้นให้แล้วก็อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีโดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้ ได้แก่ บุคคลธรรมดา, ผู้ที่ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี, กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด และ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้ มีหลักการจัดเก็บ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 หลักการ ดังนี้
1. หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) อันได้แก่ เงินได้จากหน้าที่การงาน กิจการที่ทำ หรือ กิจการของนายจ้าง หรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นและอยู่ประเทศไทย นั่นก็คือ มนุษย์เงินเดือนแบบเรานี่แหละ
2. หลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule) ได้แก่ ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย รวมกันถึง 180 วัน ในปีภาษีใด

หลายคนกำลังกังวลใจว่าจะต้องเสียเป็นเงินจำนวนมากน้อยเพียงใด และจะลดหย่อนภาษีปี2562 ได้ด้วยวิธีการใดบ้าง จะสรุปให้ดังนี้ค่ะ

  1. ค่าลดหย่อนกลุ่มส่วนตัวและครอบครัว

– ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท
– ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 60,000 บาท
– ค่าลดหย่อนบุตรจำนวน 30,000 บาท โดยคำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท ซึ่งในกรณีที่เป็นบุตรโดยกฎหมายสามารถหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม หรือ มีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมายจะหักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน และบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี2561เป็นต้นไปลดหย่อนได้เพิ่มเป็นคนละ60,000 ต่อปี
– ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
– ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท
– ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ จำนวน 60,000 บาท

  1. ค่าลดหย่อนตามมาตรการภาครัฐ

– ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000,000บาท ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน200,000บาท และต้องมีการจดทะเบียนโอนให้แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน -31 ธันวาคม 2562

– ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายจากน้ำท่วม คือ บ้าน 100,000 บาท และรถ30,000 บาท ระหว่างวันที่ 29สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน 2562

– ท่องเที่ยวทั่วไทย แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ท่องเที่ยวเมืองหลัก 15,000 บาท และท่องเที่ยวเมืองรองจำนวน 20,000 บาท แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562

– การใช้จ่าย ตรงนี้ขอแยกออกเป็น 3 กลุ่มที่คล้ายกัน นั่นคือ

* ซื้อสินค้า OTOP ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562

* ซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2562

* ซื้อหนังสือและe-book ตั้งแต่วันที่1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2562

โดยทั้งสามกลุ่มนี้ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเท่ากัน คือ กลุ่มละ 15,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนเงินประกัน เงินออม และลงทุน

– เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือ เงินฝากแบบมีประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท

– เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิต                      ทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

– เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท

– เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ  15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท

– กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ลดหย่อนได้ 15%

– กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ 15%

– กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

– เงินประกันสังคม ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท

– กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวน 13,200 บาท

4. ค่าลดหย่อนกลุ่มบริจาค

4.1 เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ (เท่าที่จ่ายจริง)

– เงินบริจาคช่วยเหลือเหตุอุทกภัยจากพายุปาบึก ตามที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

– เงินบริจาคทั่วไป ตามที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

– เงินบริจาคให้พรรคการเมืองตามจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

4.2 เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ได้แก่

– เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา

– เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ

– เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬา

โดยทั้ง 3 ประเภทนี้ ต้องบริจาคและบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น

– เงินบริจาคเพื่อองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ กองทุนวิจัยและนวัตกรรม (4 กองทุน) กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ บริจาคในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน บริจาคในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บริจาคให้โครงการฝึกอบรมอาชีพ และการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู สงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และกองทุนยุติธรรม

สุดท้ายนี้ฝ่ายกฎหมายแนะนำว่า ผู้ยื่นภาษีจะต้องยื่นแบบแสดงรายการให้ถูกต้องตามประเภทที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งชำระภาษี (ถ้ามี) ได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง หรือ ที่ทำการไปรษณีย์ (เฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน กทม.) และเว็บไซต์ออนไลน์ของกรมสรรพากรค่ะ